ทุ่งพระเมรุ หรือสนามหลวงในปัจจุบัน
เว็บเพจสำรอง (Backup Webpages) : thaiall.com | thaiabc.com
ปรับปรุง : 2550-12-14 (เพิ่ม ปริศนา)
วิวัฒนาการของสนามหลวง (ศ.พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา)
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตัดสินพระราชหฤทัยย้าย พระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ฝั่งเดียวนั้น ทรงตั้งกำหนดเขตพระบรมมหาราชวัง ขึ้นที่บางกอก โดยโปรดย้ายพวกจีนซึ่งตั้งรกรากอยู่เดิมร่นไปทางใต้ที่สำเพ็ง และให้รื้อกำแพงเมืองกรุง ธนบุรีลงเหลือไว้แต่คลองคูเมืองเดิมล้อมรอบพระบรมมหาราชวังกับวังหน้า และก็ให้เว้นที่ดินระหว่าง วังหลวงกับวังหน้าไว้เป็นท้องสนามหลวง มีพื้นที่เพียงครึ่งเดียวของสนามหลวงในปัจจุบัน เพราะพื้นที่ อีกครึ่งหนึ่งด้านทิศเหนือเป็นวันหน้า
ท้องสนามหลวงได้ใช้ประโยชน์ในครั้งแรกคืองานพระเมรุพระบรมอัฐิพระชนกแห่ง รัชกาลที่ 1 ต่อจากนั้นได้ใช้เป็นสถานที่เพื่องานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่อยู่ตลอดมา จนประชาชนเรียกที่ดินตำบลนี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ” ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอม- เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระทัยนัก จึงได้ออกประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงและสนามชัย เมื่อ พ.ศ. 2398 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งเป็นการอัปมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้ เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”
เป็นอันได้ความว่า “ท้องสนามหลวง” นั้น ได้เรียกอย่างทางราชการเมื่อ พ.ศ. 2398 และแต่ก่อนนั้นเป็นท้องนา ซึ่งน่ามหัศจรรย์มากว่าทำไมเราถึงทำนากันข้างพระบรมมหาราชวัง ดังปรากฏข้อเท็จจริงในเนื้อเพลงลาวแพน เพราะกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ตอนหนึ่งว่า
“แสนอดแสนจน เหมือนคนตกนรก มืดมนฝนตก เที่ยวหยกๆ ถกเขมร ถือข้องส่องคบ ไปไล่จับกบทุ่งพระเมรุ เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นขมเหม็นคาว จับอ่างท้องขึง จับอึ่งท้องเขียว จับเปี้ยว จับปู จับหนูท้องขาว จับเอามาให้สิ้น เอามาต้มกินกับข้าว เป็นกรรมของเรา เพราะเจ้าเวียงจันทน์ อ้าย เพื่อนเอ๋ย อ้ายเพื่อนเอย”
บันทึกรับสั่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทาน หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล เรื่องทำนาท้องสนามหลวง ได้ตอบปัญหาข้อนี้ว่า
“ท้องสนามหลวง มีเรื่องขบขันอยู่เรื่องหนึ่งคือทำนากันทุกปี การทำนากันกลางพระนคร คิดถอยขึ้นไปดูว่าทำไมจึงมาทำกันริมวังอย่างนั้น ไปพบแบบในเรื่องมหานิบาตเรื่องพระมโหสถว่ามีข้าศึก มาล้อมพระนครประสงค์จะให้อดข้าว พระมโหสถเป็นบันฑิต เอาข้าวลงปลูกในกระบอก ต้นข้าวสูง ๆ ส่งไปให้ข้าศึกว่าในเมืองปลูกข้าวได้อย่างนี้ไม่มีวันอด ข้าศึกเห็นไม่สมประสงค์จึงเลิกทัพกลับไป ที่ทำนาริมวังคือที่ท้องสนามหลวงนั้นคงได้เค้ามาจากเรื่องมโหสถ แต่ข้อสำคัญนั้นหวังจะอวดพวกญวนซึ่งคุกคามไทยอยู่ในสมัยนั้นให้เห็นว่าไทยอุดมสมบูรณ์ดี มีการทำนากระทั่งกลางพระนคร”
ต่อมาในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าวังหน้า ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จะลงทุนบูรณะก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้เฉพาะแต่ที่สำคัญ จึงโปรดให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริเวณวังชั้นนอกด้านตะวันออก เปิดเป็นท้องสนามเชื่อมกับของเดิมขึ้นมาทางเหนือ และครั้นเมื่อหลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ร.ศ.116 พ.ศ. 2440 ได้ทรงก่อสร้างดัดแปลงพระนครให้เจริญยิ่งขึ้น จึงโปรดให้สร้างถนนราชดำเนินขึ้นใหม่ ต่อจากถนนสนามชัย เป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองคูเมืองชั้นในที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วหักออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นถนนราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอกตามลำดับไปสู่พระราชวังดุสิต ถนนสนามชัยเดิมจึงถูกลบออก และขยายสนามหลวงมาทางทิศตะวันออกติดถนนราชดำเนินใน แล้วแต่งให้เป็นรูปไข่สวยงาม ปลูกต้น มะขามโดยรอบสองแถวเช่นที่เห็นทุกวันนี้ สนามหลวงจึงเป็นบริเวณที่กว้างขวางอยู่กึ่งกลางพระนครเหมาะสมสะดวกในการคมนาคม ได้ใช้เป็นที่สาธารณะประโยชน์อย่างเหลือหลายคุ้มค่าจริง ๆ มาตราบจนปัจจุบันนี้
จากประวัติและวิวัฒนาการของสนามหลวงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าสนามหลวงนั้นมีความ เป็นมาคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสมบัติของชาติของประชาชนทั้งประเทศ และได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีหรือประเพณีตามเทศกาลอยู่ตลอดมา เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จัดงานวันขึ้นปีใหม่ งานเทศกาลสงกรานต์ งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา และงานสำคัญๆ ในอดีตอีกมาก เช่น งานสมโภชรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระ-ราชดำเนินกลับจากทวีปยุโรป งานพิธีประกาศสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ-เกล้าเจ้าอยู่หัว หรืองานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษในรัชกาลปัจจุบัน ตลอดจนเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นและชมกีฬาว่าวในฤดูร้อน จึงสมควรรักษาสนามหลวงไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป
ท้องสนามหลวง (wikipedia.org)
ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานคร
ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่าง ๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ
ท้องสนามหลวงในรัชกาลปัจจุบันมีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุเจ้านายระดับสูง เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สนามหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา
Sanam Luang
Sanam Luang is a multi-purpose open-air public arena. It is used for the annual Royal Ploughing Ceremony. It has been used for political rallies. Films are shown on giant multi-screens during New Year and other festive occasions. Kite-flying is a common sight during summer months


แนะนำเว็บ (Web Guides)
+ http://th.wikipedia.org
+ http://en.wikipedia.org
+ รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
ผู้สนับสนุน + ผู้สนับสนุน
+ รับผู้สนับสนุน

แนะนำเว็บใหม่ : ผลการจัดอันดับ
รักลำปาง : thcity.com : korattown.com : topsiam.com : มหาวิทยาลัยโยนก
ศูนย์สอบ : รวมบทความ : ไอทีในชีวิตประจำวัน : ดาวน์โหลด : yourname@thaiall.com
ติดต่อ ทีมงาน ชาวลำปาง มีฝันเพื่อการศึกษา Tel.08-1992-7223