ภาระงานของผู้ดำรงตำแหน่ง

ปรับปรุง : 2549-03-14 (เพิ่ม กฎเกณฑ์)

ข้อมูลจาก : http://eclassnet.kku.ac.th/ed-office/display/disp-articles.php?id=408
ข้อมูลจาก : http://gotoknow.org/archive/2006/01/13/10/59/42/e12099
ข้อมูลนี้เป็นประกาศเรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ .. จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม ดัง Link ด้านบน

มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์
    หลักการและเหตุผล
    ภารกิจด้านการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งอีกภารกิจหนึ่งของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย นอกเหนือไปจากภารกิจด้านการสอน การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และควรมีความเข้มข้นขึ้นตามตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น และสังคมก็คาดหวังว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการควรเป็นผู้ที่สร้างผลงานทางวิชาการและเผยแพร่อย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงถึงความเหมาะสมที่จะดำรงสถานะของตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับการแต่งตั้ง ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในแต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบัน ปฏิบัติภารกิจแตกต่างกันไปทั้งภารกิจด้านการสอน การสร้างและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการบางคนไม่สร้างผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว จึงมักเกิดคำถามว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการแต่ละระดับ ควรปฏิบัติภารกิจด้านการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ และการพัฒนาองค์ความรู้ในปริมาณและคุณภาพอย่างไร จึงจะเหมาะสมต่อการดำรงสถานะของตำแหน่งทางวิชาการแต่ละระดับ
    ก.ม. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว โดยเล็งเห็นว่านอกเหนือจากการปฏิบัติภาระงานขั้นต่ำในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการควรมีภาระงานซึ่งสะท้อนถึงการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและการพัฒนาองค์ความรู้อย่างเหมาะสมต่อการดำรงสถานะของตำแหน่งทางวิชาการด้วย จึงได้กำหนดให้มีมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับมหาวิทยาลัยและผู้ปฏิบัติ นอกจากนี้การกำหนดมาตรฐานภาระงานดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในการสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นต่อไป
    1. มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
      (1) ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
      1. ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานภาระงานขั้นต่ำในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยตามที่ ก.ม. และ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยกำหนด และ
      2. มีบทความจากผลงานวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่มีกระบวนการตรวจสอบผลงานทางวิชาการโดยคณะกรรมการ (Peer Review) ก่อนตีพิมพ์ และเป็นวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการสาขานั้น ๆ หรือได้นำเสนอในการประชุมวิชาการในประเทศพร้อมทั้งเสนอผลงานฉบับสมบูรณ์ หรือผลงานในลักษณะอื่นที่เทียบเท่า ปีละ 1 เรื่อง หรือ บทความวิชาการในลักษณะอื่น เช่น บทปริทรรศน์ เฉลี่ยปีละ 2 เรื่อง
      (2) ตำแหน่งรองศาสตราจารย์
      1. ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานภาระงานขั้นต่ำในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยตามที่ ก.ม. และ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยกำหนด และ
      2. มีบทความจากผลงานวิจัยหรือผลงานในลักษณะอื่นที่เทียบเท่า ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่มีกระบวนการตรวจสอบผลงานวิชาการโดยคณะกรรมการ (Peer Review) ก่อนตีพิมพ์ และเป็นวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการสาขานั้น ๆ หรือผลงานในลักษณะอื่นที่เทียบเท่าเฉลี่ยปีละ 2 เรื่อง
      (3) ตำแหน่งศาสตราจารย์
      1. ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานภาระงานขั้นต่ำในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยตามที่ ก.ม. และ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยกำหนด และ
      2. มีบทความจากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่มีกระบวนการตรวจสอบผลงานวิชาการโดยคณะกรรมการ (Peer Review) ก่อนตีพิมพ์ และเป็นวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการสาขานั้น ๆ ในระดับนานาชาติ หรือผลงานลักษณะอื่นที่เทียบเท่า เฉลี่ยปีละ 1 เรื่อง
      ในกรณีที่สาขาวิชาใดไม่มีวารสารระดับนานาชาติตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ให้ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยกำหนดวารสารวิชาการเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมทั้งกำหนดผลงานในลักษณะอื่นที่เทียบเท่า
      การกำหนดชื่อวารสารที่มีกระบวนการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการ (Peer Review) ก่อนตีพิมพ์ และเป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการแต่ละสาขานั้น ให้ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณากำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร และแจ้งให้ ก.ม. ทราบ

    2. มาตรการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
      เพื่อให้มาตรฐานภาระงานวิชาการได้เกิดผลในทางปฏิบัติ ก.ม. จึงกำหนดแนวทางดำเนินการ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานภาระงานวิชาการดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนี้
      (1) ให้ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยใช้มาตรการเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี
      (2) ให้ถือว่าเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติที่จะเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น
      ทั้งนี้ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยอาจกำหนดมาตรการอื่น นอกเหนือจากแนวทางข้างต้นได้ตามความเหมาะสม และในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร ก็อาจอนุมัติให้ลดหรือยกเว้นภาระงานให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นรายกรณีได้

    3. แนวทางการติดตามภาระงานวิชาการ
      (1) ให้ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ติดตามภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ อย่างน้อยทุก 2 ปี
      (2) ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ รายงานภาระงานทางวิชาการ และแผนงานทางวิชาการ ที่จะจัดทำในอนาคต ตามแบบที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดทุกปี พร้อมทั้งแนบหลักฐานหนังสือตอบรับจากวารสารที่จะลงตีพิมพ์ และเอกสารผลงานต้นฉบับประกอบด้วย
ผู้สนับสนุน + ผู้สนับสนุน
+ รับผู้สนับสนุน

แนะนำเว็บใหม่ : ผลการจัดอันดับ
รักลำปาง : thcity.com : korattown.com : topsiam.com : มหาวิทยาลัยโยนก
ศูนย์สอบ : รวมบทความ : ไอทีในชีวิตประจำวัน : ดาวน์โหลด : yourname@thaiall.com
ติดต่อ ทีมงาน ชาวลำปาง มีฝันเพื่อการศึกษา Tel.08-1992-7223