ทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา ตำบลไหล่หิน
เว็บเพจสำรอง (Backup Webpages) : thaiall.com | thaiabc.com
ปรับปรุง : 2552-05-19 (แถลงข่าว)


ทรงศักดิ์ แก้วมูล
ประธานสภา อบต.ไหล่หิน
ประธานสภาวัฒนธรรม ไหล่หิน
ประธานสภาวัฒนธรรม เกาะคา
VDO
บล็อกของ ทรงศักดิ์ แก้วมูล
ฐานข้อมูล พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน
สารบัญ
+ แถลงข่าว สภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดแถลงข่าว #1
+ แถลงข่าว สภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดแถลงข่าว #2
+ ความเปลี่ยนแปลง
+ ประเด็นพวงหรีด : วัฒนธรรมบริโภคหรือบริโภควัฒนธรรมงานศพ "มอบเงินสดแทนพวงหรีด"
แถลงข่าว สภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดแถลงข่าว #1
ชาวตำบลไหล่หิน 6 หมู่บ้าน ประกาศเจตนารมณ์ลดเหล้าในงานศพ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ออก 18 มาตรการ ควบคุมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อลดภาระเจ้าภาพ
ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเมื่อครอบครัวใดมีคนตาย จะต้องจัดการงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมสำรองเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญ หรืองานมงคล โดยจากการศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2533-2550 พบว่าชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 6 เสียชีวิตเฉลี่ย 19 คน/ปี และค่าใช้จ่ายในงานศพอยู่ที่ 13,000-17,000 บาท/วัน ดังนั้นถ้าเก็บศพไว้ 5-7 วัน จะมีค่าใช้จ่ายร่วม 100,000 บาท
ซึ่งเมื่อศึกษารูปแบบงานศพในอดีต ก็พบว่าประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา เมื่อบ้านไหนมีผู้เสียชีวิตจะห่อผ้ามัดด้วยเชือกเงื่อนตอกงูลืน แล้วนำใส่แคร่ไม้ไผ่ไปทำพิธีเผาหรือฝังอย่างเร็วที่สุด ไม่มีการเก็บศพข้ามคืนข้ามวันรอคนมาร่วมพิธีอย่างในปัจจุบัน และถ้าไม่ใช่ขุนนาง จะไม่ใช้ล้อเข็นศพไปทำพิธีที่สุสาน ปราสาทก็มีเฉพาะชนชั้นเจ้านายเท่านั้น แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้น มีการสร้างปราสาทให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับ เพราะเชื่อว่าปราสาทเหล่านี้จะเป็นที่อยู่ของผู้ล่วงลับหลังความตาย ทั้งยังเชื่อว่างานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงหน้าตาของเจ้าภาพ
ด้านนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา อบต.ไหล่หิน ในฐานะรองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงวิธีการจัดการว่าหลังจากทราบข้อมูลแล้ว มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ดึงทุกภาคส่วน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วม และได้ประชามติเป็นประเด็นการจัดการงานศพทั้งหมด 16 ประเด็น แยกเป็นด้านการจัดการ 9 ข้อ และด้านความเชื่อ 7 ข้อ ตามลำดับ ได้แก่ 1.การควบคุมไม่ให้อาหารรั่วไหล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอาหารมีปริมาณไม่เพียงพอกับแขก เพราะมีบางคนแอบตักออกไป ในลักษณะจิ้นลอดฮั้ว ชุมชนจึงเห็นพ้องว่าต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนั้นต่อไป 2.ใช้เครื่องปรุงพอประมาณ เนื่องจาการซื้อเครื่องปรุงแบบไม่วางแผนล่วงหน้า ทำให้มีปัญหาทั้งขาดและเหลืออยู่เสมอ 3.ลดน้ำอัดลมเป็นน้ำเปล่า ตามหลักความสมเหตุสมผลว่าน้ำหวานเจือสีอัดแก๊ซ มีผลเสียต่อสุขภาพ 4.ลดอาหารว่าง เช่น เม็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ขนมปังปี๊บ ข้าวต้ม กระเพาะปลา หรือกาแฟรอบดึก ซึ่งล้วนเป็นภาระของเจ้าภาพที่ต้องจัดหาตามแบบอย่างค่านิยมในเมือง 5.เตรียมเมี่ยงอย่างพอประมาณ เพราะความนิยมในการอมเมี่ยงลดลง แต่ผู้สูงอายุยังช่วยกันห่อเมี่ยงในงานศพตามปกติ ทำให้เหลือทิ้งอยู่เสมอ 6.ลดสุรา จากที่เคยตั้งโต๊ะทุกวัน เหลือเพียงบางวัน เช่น วันเก็บเต้นท์เก็บครัว เพื่อแทนคำขอบคุณผู้มาช่วยลงแรง 7.งดเล่นการพนัน 8.งดจ้างวงดนตรีสากล หรือวงลูกทุ่ง โดยส่งเสริมให้ใช้เทปหรือซีดีแทน 9.ใช้ดอกไม้แห้งในหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในชุมชน 10.ใช้โครงปราสาทถาวร ไม่ต้องซื้อปราสาทใหม่ทั้งหลังแล้วนำไปเผา เพียงแต่หากระดาษสีสวยงามติดตามโครงปราสาทที่มีอยู่ หรืออาจซื้อผ้าเต้นท์ไปขึงเป็นยอดปราสาท แล้วบริจาคให้เป็นสาธารณประโยชน์ดีกว่านำปราสาทไปเผาทิ้ง 11.ยืมโลงทองที่สวยงาม มาครอบโลงจริง 12.เก็บศพประมาณ 4-5 คืน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้ร่วมกันหารือ จนมีมติลดจำนวนวันที่ไม่สมควรทำพิธีเผาศพให้เหลือเพียง 2 วัน คือวัน 9 ค่ำ และวันศุกร์ที่ตรงกับ 15 ค่ำ ส่วนเจ้าภาพที่ไม่เชื่อเรื่องวันเสีย จะเผาศพวันใดก็สามารถทำได้ 13.จัดผ้าบังสุกุลอย่างพอประมาณ 14.งดการจุดพลุและบั้งไฟ 15.ควรเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เพื่อนบ้านนำสำรับหรือสังฆทานไปร่วมทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ แต่จำนวนสำรับมักมากกว่าจำนวนพระสงฆ์หลายเท่า ซ้ำปัจจัยที่บรรจุในสำรับไม่สดใหม่ หากเปลี่ยนจากสำรับเป็นเงิน ก็จะทำให้เจ้าภาพมีเงินเหลือไว้ทำบุญและง่ายต่อการจัดการ 16.ควรให้เงินสดแทนพวงหรีด เพราะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าภาพมากกว่า
“ปรากฏว่าเมื่อนำมาทดลองใช้ใน 2 หมู่บ้าน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการขยายผลไปสู่อีก 4 หมู่บ้านที่เหลือ และเกิดประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.งดชิงโชคจากโปรยทานด้วยลูกอมหรือเงินเหรียญ 2.ควรเผาศพในเมรุ 3.งดจุดธูปในบ้าน เพราะควันจากธูปก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การจุดในที่โล่ง หรือจุดแต่น้อย จึงเป็นข้อเสนอที่นำมาให้เจ้าภาพพิจารณา” รองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
และเป็นที่มาของการรวมตัวกันในระดับตำบล ทั้ง 6 หมู่บ้าน ที่ศาลาวัดไหล่หินหลวง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ไว้เป็นหลักฐาน
ด้านนายชนะเกียรติ เจริญราช นายอำเภอเกาะคา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ย้ำว่า การประกาศเจตนารมณ์ของชาว ต.ไหล่หิน ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าภาพได้อย่างชัดเจน จึงขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในอนาคตอันใกล้ จะพยายามนำรูปแบบและวิธีการไปขยายผล เพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับอำเภอต่อไป.
+ http://talk.mthai.com/topic/55481

แถลงข่าว สภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดแถลงข่าว #2
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ร่วมกับ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนกร่วมกับนักวิจัยในพื้นที่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จัดงานแถลงข่าวการประกาศใช้รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตำบลไหล่หิน โดยได้รับเกียตรติจากนายชนะเกียรติ เจริญหล้า นายอำเภอเกาะคา เป็นประธานในพิธีมอบป้ายไวนิล ป้ายประชาสัมพันธ์ประเด็นข้อตกลง และเอกสารประกาศข้อตกลง แก่ตัวแทนผู้นำทั้ง 6 หมู่บ้านที่ทำงานร่วมกันมากว่า 2 ปี ณ ศาลาเอนกประสงค์วัดไหล่หินหลวง โดยมีผู้สูงอายุ นักวิจัยในตำบล หัวหน้าส่วนราชการ และนักวิจัยที่สังกัดศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง เข้าไปร่วมเป็นเกียรติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีวิทยาของโครงการวิจัยครั้งนี้
หลังเสร็จพิธีนางสาวภัทรา มาน้อย พี่เลี้ยงโครงการวิจัยพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในตำบล นักวิจัยอวุโส ปลัดอาวุโส และนายอำเภอเกาะคา
+ http://www.thaiall.com/blog/burin/85/

ความเปลี่ยนแปลง
ปรับปรุง 2552-05-19
"การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลา แล้วใครจะทำ และทำเพื่อใคร" เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นก่อนทำการวิจัยในพื้นที่ เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ก่อนงานวิจัยจะเริ่ม คำถาม คำนินทา คำเตือน คำบอกเล่า ล้วนเป็นคำที่มีความหมายและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของชุมชนและเป็นคำที่เกิดขึ้นก่อนงานวิจัยจะเริ่ม
"ทำไปทำไม ของมันดีอยู่แล้ว"
"เป็นใครมาจากไหน ถึงได้กล้าทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน"
"อย่าทำเลย เดี๋ยวมันจะขึด"
"เมื่อทำไปแล้ว ได้อะไรขึ้นมา ชาวบ้านได้อะไร"
"สูทำไปทำไม ไผเป็นคนบอกให้สูทำ"
คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีข่าวการทำวิจัยเรื่องงานศพในบ้านไหล่หิน การทำงานเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เริ่มหันมาพูดคุยกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านถี่ขึ้น นักวิจัยต่างคนต่างให้ข้อคิดเห็นต่างกันออกไป เป็นกระจกซึ่งกันและกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวนักวิจัย เริ่มมีการไตร่ตรองความคิดของตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียด ประเด็นนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวนักวิจัยต้องการที่จะให้งานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่างในชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักวิจัยท้องถิ่นที่มีต่อชุมชนและรูปแบบงานวิจัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่ชุมชนจะกล่าวว่านักวิจัยของบ้านไหล่หินเป็นผู้นำทางความคิด หรือ "เป๋นเก๊าตางกำกึด" และนี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องยอมรับ
หากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในงานวิจัยท้องถิ่นโดยนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หิน หมู่ 2 ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั่นคือ นักวิจัย และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชุมชน และที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนโดยรอบ ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและสามารถสัมผัสได้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า นักวิจัยของบ้านไหล่หินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงการทำงาน ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดการยอมรับนักวิจัยในชุมชนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำงานของนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หินทำงานกันเป็นทีม ทำให้การยอมรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชาวบ้านเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักวิจัยท้องถิ่นบ้าง แต่ความคิดของชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแตกแยกในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกระบวนการงานวิจัยที่กำลังลงมือกันอยู่ เป็นกระจกส่องการทำงานโดยคนในชุมชน เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที เสียงหัวเราะเริ่มเสียงดังขึ้น การแสดงความคิดเห็นในเวทีเริ่มมีสีสัน ข้อเสนอแนะมีมากขึ้น
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในกระบวนการงานวิจัยมากขึ้น กอปรกับชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการทำวิจัยในชุมชนค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมระหว่างงานวิจัยนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีงานวิจัยแล้วผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในช่วงเวลาปกติ และในช่วงที่มีงานศพในหมู่บ้าน ขั้นตอนและกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนไหล่หินนั้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งการขับเคลื่อนโดยนักวิจัยและการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในบางครั้งของห้วงเวลาที่ดำเนินงานวิจัย บางเรื่องเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่สามารถถามต่อชุมชนได้ เนื่องจากว่าบางสิ่งบางอย่างในงานวิจัยเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมานาน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คนที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้ประเด็นคำถามที่ทีมนักวิจัยต้องการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวทีประชาคม เป็นการพูดคุยผ่านกระบวนการประชาคมในหมู่บ้านและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในงานศพที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยในงานศพก็นำมาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะในเวที โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการพูดคุยกันมานานก่อนงานวิจัยจะเริ่มขึ้นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัย ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีการบ่มมานาน การพูดคุย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เคยปิดกั้นทางความคิดของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตถูกเปิดเผย ถูกพูดถึง ทำให้จารีตประเพณีหรือฮีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดคุย ปัดฝุ่นกันอีกครั้งว่า เป็นฮีตเดิมฮีตเก่าฮีตแก่หรือไม่อย่างไร ใช้เหตุและผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชำระฮีตในชุมชน ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นทิศทางของความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นตามการชำระฮีต โดยยังยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษในชุมชน ทั้งนี้เป็นการเดินทางสายกลางทางความคิดระหว่างนักวิจัยในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนหลายหมู่เหล่าที่เห็นพ้องในแนวทางการดำเนินงานโครงการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน หมู่ 2 และ หมู่ 6 ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสัมพันธภาพในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เกิดการยอมรับทางความคิด และการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
จากความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมู่บ้านทำให้ชุมชนรอบข้างเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการงานวิจัยที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านดำเนินการกันอยู่ มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงไม่สนับสนุน เหมือนลักษณะในครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หิน แต่กระนั้นก็ตามการกล่าวขานก็เป็นเพียงการกล่าวขานเล่าเรื่องราวเท่านั้น ความกระจ่างชัดในวัตถุประสงค์ของงงานวิจัยยังไม่แผ่คลุมในระดับตำบลหรือชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด
"หมู่บ้านท่านทำแบบใด ผมอยากมีแนวทาง
เหมือนบ้านท่านบ้าง หากมีเวลาผมขอเชิญมา
พูดคุยกับชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้านด้วยนะ"
เสียงของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งบอกกล่าวแบบเชิญชวนหนึ่งในทีมวิจัยของเราเข้าไปพูดคุยในประเด็นที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังดำเนินการและปฏิบัติกันอยู่ ตรงนี้เป็นการชั่งคิดของชุมชนรอบข้างถึงแนวทางที่เกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบข้างที่ตอบรับกระบวนการงานวิจัยที่เกิดขึ้น เป็นการส่งไม้ต่อที่ไม่ต้องออกแรงกันมากนัก เกิดแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน เกิดแรงสนับสนุนจากภายนอกชุมชนเข้ามาเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดกระบวนการและขั้นตอนที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หินก็สามารถหยิบยกในรูปแบบการดำเนินงานไปใช้กับชุมชนรอบข้างในตำบลไหล่หินได้เป็นอย่างดี จะแตกต่างตรงที่แนวทางและรูปแบบของแต่ละหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการที่นำไปใช้เป็นการถอดบทเรียนที่ชาวบ้านสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนทางความคิด บทเรียนทางการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าในเมื่อสิ่งที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังทำอยู่นั้น เกิดผลดี ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณค่า หมู่บ้านหรือชุมชนรอบข้างเกิดความต้องการที่จะใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชนของตน
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวบุคคลไปถึงระดับหมู่บ้านจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับตำบลนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านไหล่หินที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชุมชนจนนำไปสู่รูปแบบการจัดงานศพที่เกิดขึ้นจากเวทีประชาคม เกิดจากบทเรียนที่ถอดด้ามมาจากชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้าน เห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการงานวิจัยที่สอนให้ชาวบ้านได้รู้จักระบบการคิดที่มีเหตุผลและเป็นขั้นตอนอย่างยั่งยืนบนฐานความคิดของตนเองและชุมชน
+ http://www.thaiall.com/blog/songsak/263/

ประเด็นพวงหรีด : วัฒนธรรมบริโภคหรือบริโภควัฒนธรรมงานศพ "มอบเงินสดแทนพวงหรีด"
ปรับปรุง 2551
บทเรียนจากนักวิจัยเรื่อง "พวงหรีด" คุณทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา อบต.ไหล่หิน / ทีมวิจัย ได้สังเคราะห์ไว้น่าสนใจ ว่า ชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการดำเนินชีวิต ผ่านกระบวนการทางสังคมที่มีแบบแผนมานาน ด้วยเป็นชุมชนที่เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ตำบลไหล่หินเดิม ( 12 หมู่บ้าน) ที่มีความเจริญ ก้าวย่างเข้ามาในชุมชนตลอดเวลา จนปรับเปลี่ยนแยกพื้นที่การปกครองให้กับตำบลใหม่พัฒนา เมื่อปี 2520 แต่นั่นก็ยังทำให้ไหล่หิน ยังคงเป็นศูนย์กลางดั่งเดิม บวกกับในชุมชน ที่เป็นยังคงมีจำนวนประชากรหนาแน่น ได้แยกการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อปี พ.ศ. 2546 ด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม รูปแบบการปกครองที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่วิถีชีวิตละวัฒนธรรมประเพณี ของชุมชนไหล่หินเปลี่ยนแปลงไปไม่มาก ด้วยเป็นชุมชนที่มีแผนการดำเนินชีวิตที่ยึดติดกับความเชื่อ - ความเคารพศรัทธาต่อครูบามหาป่าเจ้า นักบุญของคนไหล่หิน ที่เป็นตัวกำหนดในแนวความคิดที่แปรเปลี่ยนไป
งานศพเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมประเพณี ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชุมชนของคนไหล่หิน อาจจะด้วยสาเหตุที่มีจำนวนประชากรมาก ความหลากหลายในวัย หรืออาจจะด้วยสาเหตุอื่น ๆ นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้วัฒนธรรมทางงานศพเปลี่ยนไปจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
จากในอดีตเมื่อครั้งมีงานศพ ค่าใช้จ่ายมากแต่รายรับน้อย ไม่คุ้มต่อการจัดการงานศพในครั้งนั้น ทำให้มีการกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในงานศพ และค่าใช้จ่ายนับจากนี้ไปจะเกิดขึ้นกับคนเป็นทันที ไม่ว่าลูกหลาย ญาติพี่น้อง แต่ด้วยระยะเวลาและแนวความคิดในชุมชนใหญ่ เช่น ที่บ้านไหล่หิน คำว่า เงินสมทบผู้ตาย เงินช่วยเหลือผู้ตายหรือเงินค่าสมาชิก ก็เกิดขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในงานศพ ลดช่องว่างการเป็นหนี้ให้กับเจ้าภาพอย่างเห็นได้ชัด เสียงตอบรับออกมาในทิศทางที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคและปัญหามานานก็ตาม
แต่กระนั้นก็ตามที่สภาพทางสังคมและสถานะทางเศรษฐกิจในชุมชนไหล่หินที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย สภาพคล่องทางเศรษฐกิจผ่านไปได้รวดเร็ว ทุกครัวเรือนมีงานทำมากขึ้น แรงพลังในการทำบุญก็มีมากขึ้นตามลำดับ งานศพก็เป็นอีกหนึ่งงานบุญที่ช่วยเหลือผู้ตายในชุมชนไหล่หิน ให้มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบงานศพที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มใช้ปราสาท นิยมนำสำรับมาทำบุญ หรือกลุ่มเงินสมาชิกมีมากขึ้น แรงสนับสนุนที่มีต่อเจ้าภาพงานศพก็มีมากขึ้น
ในเมื่อมีแรงสนับสนุนในงานศพมากขึ้น เจ้าภาพต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการต้อนรับมากขึ้นเช่นกัน
กลุ่มองค์กร กลุ่มอาชีพ หน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น รวมตัวทำงานเป็นทีมมากขึ้น และมีแรงสนับสนุนในงานบุญเพิ่มมากขึ้น
"พวงหรีด" เป็นอีกหนึ่งในแรงสนับสนุนที่มีต่อเจ้าภาพและนับวันจะเป็นค่านิยมยึดติดกับงานศพ แตกต่างในอดีตที่มีรูปแบบงานศพที่เรียบง่าย ค่านิคมที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ได้เป็นความผิดของคนใดคนหนึ่งที่คิดค้นขึ้น แต่เป็นค่านิยมที่บ่งบอกถึงความเคารพ ความเห็นอกเห็นใจกัน เพราะในปัจจุบันการรวมตัวเป็นกลุ่มมากขึ้น ความร่วมมือในการทำงานมีมากขึ้นด้วย พวงหรีด ถือว่าเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของกลุ่ม องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลที่มอบให้กับเจ้าภาพ บ่งบอกไปยังผู้มาร่วมงาน ถึงความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร
ด้วยพวงหรีดเป็นสิ่งที่หมดความสำคัญเมื่อสิ้นสุดงานศพ คำถามจึงเกิดตามมาเมื่อสิ้นสุดงานศพเช่นกัน ถึงความเสียดาย ความหมดคุณค่าในราคาอันแสนแพงของพวงหรีดแต่ละอัน แต่ยังมีบางส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ ตั้งราคาใหม่จากผู้ควบคุมงาน นั่นคือ "สัปเหร่อ" นั่นเอง เริ่มที่ 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยและขนาด แต่ก็เป็นเพียงการรับรู้ภายในเท่านั้น หากว่าเป็นการย้อมแมวพวงหรีดก็ไม่ผิด
คำถามเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ และเห็นได้ชัดเจนของงานศพผู้ที่มีอันจะกิน งานศพของผู้ที่มีการงานที่ดี เมื่อนับมูลค่าเงินทองที่นำไปซื้อพวงหรีดตกราว ๆ 3,000-4,000 บาท หากเป็นพวงหรีดที่ทำจากดอกไม้สดแล้วราคายิ่งสูง และอยู่ได้ไม่นาน ไม่สามารถนำมาใช้งานใหม่ได้ คนในชุมชนไหล่จึงตั้งคำถามร่วมกัน โดยไม่หวังคำตอบที่ชัดเจนและเป็นการตั้งข้อสังเกตของคนในพื้นที่ว่า หากจะเปลี่ยนจากพวงหรีดในราคาหลายร้อยบาท มาเป็นเงินสดมอบให้กับเจ้าภาพ จะเป็นสิ่งที่ยอมรับร่วมกันหรือไม่ แต่คำถามเหล่านั้นไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อการสกัดกั้นคนที่นำพวงหรีดมามอบ แต่เป็นการหวังดีต่อเจ้าภาพที่แบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเงาตามตัว แม้ว่างานศพจะสิ้นสุดลงก็ตาม และนี่อาจจะเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่แสดงออกถึงความรัก ความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อกันของคนบ้านไหล่หิน ที่ยึดมั่นวัฒนธรรม ประเพณีของบรรพบุรุษที่มีมานาน ท่านกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมที่มักเบียดเบียนจารีต-ประเพณีให้ให้ตกไปจากร่องรอยการปฎิบัติ
มาถึงตรงนี้ใช่ว่าคนชุมชนไหล่หินจะไม่ยอมรับค่านิยมใหม่ ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานศพ แต่คนไหล่หินกำลังพยายาม ทำให้ค่านิยมที่เข้ามานั้น มีผลกระทบต่อจารีต ความร่วมมือที่มีให้น้อยที่สุดและให้คงอยู่ และเดินพร้อมกันตามกระแสเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น
ผู้สนับสนุน + ผู้สนับสนุน
+ รับผู้สนับสนุน

แนะนำเว็บใหม่ : ผลการจัดอันดับ
รักลำปาง : thcity.com : korattown.com : topsiam.com : มหาวิทยาลัยโยนก
ศูนย์สอบ : รวมบทความ : ไอทีในชีวิตประจำวัน : ดาวน์โหลด : yourname@thaiall.com
ติดต่อ ทีมงาน ชาวลำปาง มีฝันเพื่อการศึกษา Tel.08-1992-7223