การรักษาพยาบาลโรค thairheumatology83
โรคข้อรูมาตอยด์เด็ก
โรครูมาตอยด์ในเด็กคืออะไร ?
โรครูมาตอยด์ในเด็กเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้อที่มีจำนวนกว่า 50 โรค พบได้ในเด็ก แต่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุของโรครูมาตอยด์ในเด็กคืออะไร ?
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิด และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โรครูมาตอยด์จะเป็นอยู่นานเท่าไร ?
โรครูมาตอยด์ในเด็กจะเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง อาจมีข้ออักเสบอยู่นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ในบางรายอาจเป็นไปตลอดชีวิต ในขณะที่บางรายอาจโชคดีที่โรคสามารถสงบลงได้หรือสามารถควบคุมโรคได้
อาการและอาการแสดงของโรคนี้มีอะไรบ้าง ?
โรครูมาตอยด์ในเด็กอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้ตามอาการนำเริ่มต้นของโรคดังนี้
1. กลุ่มที่มีไข้สูง พบได้น้อย เด็กจะมีข้ออักเสบร่วมด้วย อาจมีตับม้ามโต ในบางรายอาจมีปอดอักเสบและหัวใจอักเสบร่วมด้วยได้
2. กลุ่มที่มีข้ออักเสบหลายข้อ จะมีอาการและอาการแสดงคล้ายโรครูมาตอยด์ในผู้ใหญ่
3. กลุ่มที่มีข้ออักเสบ 2-3 ข้อ ในกลุ่มนี้ถ้าเป็นเด็กหญิงอายุน้อยจะมีโอกาสเกิดตาอักเสบทำให้ตาบอดได้ ในขณะที่ถ้าเป็นเด็กชายและอายุมากอาจมีกระดูกสันหลังอักเสบร่วมด้วยได้

แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร ?
แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ การตรวจทางห้องปฏิบัติการมักจะไม่ช่วยในการวินิจฉัย แต่ช่วยแยกโรคที่คล้ายโรครูมาตอยด์ในเด็กออกไป การตรวจหารูมาตอยด์ในเลือดจะให้ผลลบ การตรวจทางภาพรังสีอาจช่วยบอกความรุนแรงของโรคและพยาธิสภาพที่ข้อถูกทำลาย
การรักษาโรคนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?
1. การรักษาทางยา เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษา ยาต้านอักเสบ เช่น แอสไพริน ได้ถูกนำใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์ในเด็กมาเป็นเวลานานและได้ผลดี ในปัจจุบันมียาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์อื่น ๆ ออกมาใช้ในเด็กได้บ้าง ในรายที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีอาจต้องพิจารณาใช้เกลือทองคำ (gold salt) ในการรักษา แต่ยานี้มีผลข้างเคียงมาก ควรใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. การบริหารร่างกาย มีส่วนสำคัญในการรักษาเช่นกัน เพราะจะช่วยให้ข้อมีการเคลื่อนไหวได้ดีไม่ติดขัด และเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
3. การผ่าตัด เป็นหนทางสุดท้ายที่นำมาใช้รักษา และจะพิจารณาในรายที่ข้อถูกทำลายอย่างมาก มีการผิดรูปไป หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น
4. การตรวจตา เด็กโรครูมาตอยด์โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีข้ออักเสบเพียง 2-3 ข้อ อาจมีปัญหาตาอักเสบได้ ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้ เด็กจึงควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
พ่อและแม่จะมีส่วนในการดูแลเด็กอย่างไรบ้าง ?
พ่อและแม่จะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยการดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรครูมาตอยด์ พ่อและแม่ควรเอาใจใส่ดูแลเด็ก ให้ความเห็นอกเห็นใจ ให้ความรักแก่เด็ก ต้องคอยให้กำลังใจ ส่งเสริมให้เด็กได้มีการศึกษา ได้ออกกำลังกาย เพื่อความเจริญเติบโตของร่างกายให้มากที่สุด ในบางครั้งเด็กอาจมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เนื่องจากเขาคิดว่าเขามีร่างกายไม่สมบูรณ์เช่นเด็กคนอื่น หรือคิดว่าเขามีความผิดอะไร ทำไมจึงต้องเป็นเขาที่เป็นโรคนี้ เขาจะพิการหรือไม่ เป็นต้น พ่อและแม่จะต้องให้กำลังใจ ปลอบโยนให้เขายอมรับความจริง เข้าใจโรค ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เพื่อให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตได้มากที่สุด
โรงเรียนจะมีส่วนช่วยในการดูแลเด็กอย่างไรบ้าง ?
ถึงแม้เด็กที่เป็นโรครูมาตอยด์จะมีความผิดปกติทางร่างกายและรูปร่างเล็กกว่าเด็กคนอื่นในอายุที่เท่ากัน แต่ว่าสมองของเด็กเหล่านี้จะปกติ เด็กควรจะไปโรงเรียนเพื่อรับการศึกษาให้มีความรู้ทัดเทียมเพื่อน ครูเป็นบุคคลที่มีความสำคัญเช่นกัน ครูจะต้องช่วยดูแลเด็ก เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ให้ความอบอุ่น คอยส่งเสริมให้เด็กได้มีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม ควบคุมการรับประทานยา และรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน เพื่อให้พ่อแม่และแพทย์ทราบ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป ดังนั้น การดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรครูมาตอยด์จะต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย ตั้งแต่แพทย์ พ่อและแม่ ครู เพื่อนฝูง เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติฐโตที่สมบูรณ์และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ข้อมูลจาก : http://www.thairheumatology.org/people01.php?id=83
ความหมายของสุขภาพ
สุขภาพ เป็นการกล่าวถึงลักษณะของการไม่เป็นโรค สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และวิญญาณ (ปัญญา) หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเข้าสู่ที่เรียกว่าสุขภาวะ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ สุขภาพที่ดีมีส่วนทำให้ชีวิตของเรามีความสุข
+ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย

http://goo.gl/72BPC